การแข่งขันนกกรงหัวจุก
ปัจจุบันการแข่งขันนกกรงหัวจุกมี 2 รูปแบบคือ แบบสากล กับ แบบทั่วไปหรือแบบสี่ยก
การแข่งขันแบบสากล
การแข่งขันแบบสากลส่วนใหญ่จะเน้นที่ความงดงามสมส่วนหรือมีลีลาสง่างามหรือไม่ และสำนวนเพลงร้องของแต่ละตัวดีหรือไม่อีกทั้งการแข่งขันแต่ละครั้งจะไม่จำกัดยกแต่จะใช้จำนวนนกที่เข้าร่วมเป็นเกณฑ์ การแข่งขันจะใช้กรรมการ 3 คนต่อชุด ทำหน้าที่คัดเลือกนกออกให้เหลือเท่าจำนวนรางวัลที่จัดเอาไว้ กรรมการทั้ง 3 คนจะยึดกฎกติกาอันเดียวกัน โดยจะเดินวนรอบๆ ราวแขวนนกระยะพอประมาณ กรรมการ 1 คนจะสังเกต 6-9 ตัว รอบแรกจะคัดเอานกตัวที่ไม่ร้องหรืออยู่นิ่งๆ ขนพองฟูออก เพราะแสดงว่าไม่มีใจสู้ ไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับนกตัวที่อยู่รอบๆ ข้างเลย กรรมการก็จะจดหมายเลขนกตัวนั้นเอาไว้ ถ้านกตัวใดถูกกรรมการ 2-3 คนจดหมายเลยซ้ำกันถือว่าตกรอบ นกที่เหลือจะถูกยุบเข้าไปอยู่บนราวเดียวกัน เมื่อเหลือจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ จะสังเกตว่ายกที่ 1-3 นั้นนกที่ตกรอบเป็นนกที่ไม่ร้องไม่โชว์ลีลาอะไร
ยก 4 กรรมการจะเน้นไปที่เสียงร้องเป็นพิเศษ นกที่ผ่านยก 1-3 มาได้ แต่ถ้าไม่มีเสียงร้องในยกที่ 4 แม้จะมีลีลาดีเพียงใดก็ต้องตกรอบไปเพราะก่อนเข้ารอบรองชนะเลิศกรรมการจะพิจารณาเสียงเป็นหลัก พอคัดเลือกนกเหลือเท่ารางวัลกรรมการจะหยุดพัก 5 นาที ให้เวลาเจ้าของนกหรือพี่เลี้ยงทำนกให้สดชื่นตื่นตัวและคึกคักพร้อมเข้าแข่งรอบชิงชนะเลิศ ในช่วงเวลา 5 นาทีนี้ สิ่งที่เจ้าของนกส่วนมากจะทำกันคือป้อนอาหารจำพวกเรียกพลังเช่นตักแตนหนอนให้นกอิ่มมีพลังร้องอย่างเต็มที่ในยกต่อไป และนำอาหารนกที่เหลือในกรงออกเพื่อให้สนใจร้องอย่างเดียวไม่มัวกินอาหาร พร้อมทั้งเปลี่ยนน้ำให้นกใหม่เพราะน้ำใช้มาตั้งแต่เช้าสกปรกและร้อนเกินไป หรืออาจจะมีวิธีอื่นอีกก็แล้วแต่เจ้าของ
รอบชิงชนะเลิศกรรมการแต่ละคนจะใช้วิธีเดินรอบสนามหรือราวนกเพื่อให้คะแนนหลายๆ รอบจนครบหมดทุกตัว ในการตัดสินรอบแรกจะดูนกที่ร้องก่อนตัวอื่นๆ โดยเดินวนตามหลังกันเว้นระยะห่างพอประมาณไปในทิศทางเดียวกัน ใช้ระยะเวลาในการเดินให้คะแนนคนละเท่าๆ กันคือ 1 นาทีต่อ 1 ล๊อก ดูนกประมาณ 3 ตัว เมื่อพบนกตัวใดร้องก็จะจัดการให้คะแนนตามแบบฟอร์ม โดยจะดูลักษณะการร้อง(เสียงร้อง) และลีลาการร้องประกอบกัน ส่วนนกที่ไม่ร้องในการเดินรอบแรก กรรมการก็จะยังไม่ให้คะแนน แต่ในรอบที่ 2 กรรมการจะต้องให้คะแนนนกให้ครบทุกตัวแม้ว่าจะไม่ร้องก็ตาม เมื่อกรรมการแต่ละท่านตัดสินนกจนครบทุกตัวก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการให้คะแนน และสรุปผลการตัดสินต่อไป
การแข่งแบบ 4 ยก
การแข่งขันแบบนี้ถือกำเนิดขึ้นในแถบจังหวัดชายแดนไทยมาเลเชีย ก่อนจะเริ่มเป็นที่นิยิมขึ้นมาทางภาคใต้ตอนล่าง และแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
การแข่งขันนกกรงหัวจุกประเภทนี้นิยมแข่งการแข่งขันออกเป็น 5 ยก ให้ใช้ยกที่ 1-4 ในการคัดเลือกนกออก และในยกที่ 5 คือยกสุดท้ายเป็นช่วงเวลาในการชิงความเป็นหนึ่งในสนามแข่ง กรรมการที่ใช้ในการแข่งขันจะมีทั้งหมด 4 คน โดยมีการจัดแบ่งหน้าที่กัน โดย 2 คนทำหน้าที่ดูว่านกตัวใดร้องหรือไม่ร้องบ้าง อีก 1 คนจะคอยให้คะแนนที่ร้อง โดยถ้านกร้อง 3 พยางค์ขึ้นไปให้ 5 คะแนน ไม่ร้องให้ 4 คะแนน
ในสนามหนึ่งๆ จะแบ่งล๊อคเป็น 2 ล๊อค กรรมการจะมี 2ชุด เริ่มเดินวนจากซ้ายสุดและขวาสุดเข้าหากัน เมื่อให้คะแนนล๊อคของตนเสร็จก็จะเปลี่ยนไปให้คะแนนในล๊อคถัดไป กรรมการแต่ละท่านจะใช้เวลาเพียง 1 นาที ในการให้คะแนนนกในล๊อคตรงหน้าของตน เมื่อครบ 1 นาที จะมีสัญญาณนกหวีดดังขึ้น การให้คะแนนวิธีนี้จึงได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐาน ส่วนหลักการให้คะแนนก็มีต่อไปนี้
1. นกที่ร้อง 3 พยางค์ขึ้นไปให้ 5 คะแนน ส่วนนกที่ไม่ร้องหรือร้องไม่ถึง 3 พยางค์ให้ 4 คะแนน
2. นกที่จิกกรรมการ จะให้ 6 คะแนน
3. ลีลาดี รูปร่างดี ไม่มีคะแนนให้
เมื่อกรรมการแต่ละท่านให้คะแนนนกทุกตัวครบแล้วก็จะติดผลคะแนนบนบอร์ด ให้เจ้าของนกทราบ นกตัวใดได้ไม่ถึง 20 คะแนน ถือว่าตกรอบไปตามระเบียบ
ในรอบชิงชนะเลิศกรรมการแต่ละคนจะดูเฉพาะนก 2 ตัว ตรงหน้าของตนเท่านั้น โดยใช้เวลา 1 นาทีเท่าเดิม ในการพิจารณาให้คะแนนเสียงร้อง การนับดอกโดยหนึ่งดอกก็นับตั้งแต่ 3 พยางค์ขึ้นไป เมื่อสิ้นสุด 1 นาที จะมีสัญญานนกหวีดดังขึ้นเหมือนเดิม จนกระทั่งสิ้นสุดการให้คะแนนของกรรมการแต่ละท่านพร้อมๆ กัน ในการสรุปคะแนนรอบชิงกรรมการนิยมนับคอกว่านกตัวใดจะมีคะแนนเยอะกว่า หรือถ้าหากตัวใดจิกต่อหน้ากรรมการก็จะตัดสินให้นกตัวนั้นชนะไปเลย แต่ก็ต้องมีการนับดอกไปจนกว่าจะหมดเวลาเพื่อไม่ให้มีการเสมอกัน ในกรณีที่มีนกจิกใส่หน้ากรรมการมากกว่า 1 ตัว กรรมการจะตัดสินโดยการนับดอกใส่เข้าไปด้วย ซึ่งการแข่งขันนกแบบ 4 ยก นี้จะไม่ค่อยเน้นในเรื่องของความสวยงามแต่จะเน้นไปในการลองน้ำเสียงเพลงร้องมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีการประกวดประชันหรือโชว์กรงด้วย ว่ารูปทรงของกรงนกที่นำมาเข้าประกวดสวยงามมีลวดลาย หรือมีรูปร่างที่แปลกตา และมีราคาแพงอย่างไร
กลับหน้าแรก HOME
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น